Richard Mille เผยเสน่ห์ของตัวเรือนแซฟไฟร์สีประดับด้วยอัญมณีในคอลเลกชั่น RM 07-02 Automatic Sapphire

แซฟไฟร์สังเคราะห์นั้นเป็นวัสดุที่กำลังมาแรงในโลกนาฬิกา เนื่องจากความใส แข็งแกร่งทนทานต่อรอยขีดข่วน น้ำหนักเบา และให้สัมผัสที่สบายยามสวมใส่ แต่แซฟไฟร์ก็ขึ้นชื่อเรื่องความท้าทายในการผลิต และมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่สามารถผลิตได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Richard Mille ซึ่งได้สั่งสมความเชี่ยวชาญจนสร้างนาฬิกาตัวเรือนจากแซฟไฟร์มานานนับทศวรรษ โดยได้ลงทุนทั้งเครื่องมือและการวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตจนประสบความสำเร็จ และสามารถนาฬิกาตัวเรือนแซฟไฟร์ทั้งเรือนในชื่อ RM 056 Tourbillon Split-Seconds Chronograph Sapphire เมื่อปี 2012 รวมถึงการผลิตตัวเรือนแซฟไฟร์สีทั้งเรือนเป็นครั้งเมื่อปี 2015 ในชื่อ RM 07-02 Automatic Sapphire
ล่าสุด Richard Mille ได้อัพเดทคอลเลกชั่น RM 07-02 Automatic Sapphire ที่โดดเด่นด้วยดีไซน์เส้นสายสะอาดตา ผสานเข้ากับความซับซ้อนของกลไก โดยตีความนำเสนอออกมา 4 เวอร์ชั่น ซึ่งรวมถึงรุ่นสีไลแล็กซึ่งเป็นเฉดสีใหม่ และรุ่นประดับอัญมณีใหม่ด้วย
การผลิตตัวเรือนด้วยแซฟไฟร์สีนั้นซับซ้อนกว่าแซฟไฟร์ใสปกติ โดยต้องผสมเมทัลออกไซด์เข้ากับโครงตาข่ายคริสตัล และคริสตัลสีนั้นไวต่อความร้อนและกระบวนการเพาะมากกว่าคริสตัลใส ซึ่งกว่าจะได้เฉดสีที่ต้องการต้องผ่านการทดลองมากมายหลายครั้ง อีกทั้งตัวเรือนทรงตอนโนซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของ Richard Mille ก็ยิ่งเพิ่มความท้าทายเข้าไปอีกเนื่องจากประกอบด้วยเส้นโค้ง และเหลี่ยมมุมมากมาย ทำให้ต้องแม่นยำในทุกกระบวนการ โดยเฉพาะในกระบวนการตัด เนื่องจากแซฟไฟร์มีค่าความแข็ง (hardness) อยู่ที่ระดับ 9 ตามสเกลของโมห์ (โดยมีความแข็งอยู่ที่ระดับ 2,000 วิกเกอร์ เป็นรองแค่เพียงเพชรเท่านั้น) กว่าจะตัดเฉือนให้ได้รูปทรงที่ต้องการจึงใช้เวลานับพันชั่วโมง ไม่รวมการขัดแต่ง และการเคลือบกันสะท้อนที่ชิ้นส่วนต่างๆ
และที่ท้าทายขึ้นไปอีกระดับคือการประดับอัญมณีลงบนตัวเรือนแซฟไฟร์ เนื่องจากความแข็งของวัสดุ ทำให้ต้องใช้เลเซอร์ในการเจาะรูขนาดเล็กระดับไมครอน ซึ่งต้องใช้ความแม่นยำอย่างสูง และนำรางหนามเตยซึ่งทำจากทองขัดด้วยมือติดตั้งลงไปเพื่อทำหน้าที่ยึดเกาะอัญมณีที่นำมาประดับ ซึ่งมีทั้งสเปสซาร์ไทต์ อาเกต โอปอล ซาวอไรต์ คริสโซเพรส และมาลาไคต์
ภายในตัวเรือนแซฟไฟร์ที่งดงามราวศิลปะร่วมสมัยนี้บรรจุด้วยกลไกอัตโนมัติแบบสเกลเลตัน CRMA5 ซึ่งมาพร้อมระบบขึ้นลานที่สามารถเลือกโหมดให้เข้ากับกิจกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้สวมใส่ได้ ทั้งยังสามารถสำรองพลังงานได้นาน 50 ชั่วโมง นอกจากประสิทธิภาพการทำงานแล้ว กลไกนี้ยังถูกสร้างขึ้นอย่างประณีตงดงาม ทั้งเบสเพลทและบริดจ์ผลิตจากเรดโกลด์หรือไวท์โกลด์ขัดแต่งด้วยมือ ไปจนถึงโรเตอร์ประดับเพชร
บทความอื่นที่น่าสนใจ:
Richard Mille นำเสนอ RM 35-03 Automatic Rafael Nadal นาฬิกาที่ให้คุณเปลี่ยนโหมดการขึ้นลานให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์
Richard Mille และ McLaren จับมือสร้างสรรค์นาฬิการุ่นล่าสุด
The post Richard Mille เผยเสน่ห์ของตัวเรือนแซฟไฟร์สีประดับด้วยอัญมณีในคอลเลกชั่น RM 07-02 Automatic Sapphire appeared first on L’Officiel Thailand.