Blog

The New Era of Wellness: นวัตกรรมสุขภาพเพื่อชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นักเขียน: Weeranart chotipuntu

ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะชีวิตในเมืองอันเร่งรีบ รวมถึงการงานที่รัดตัวจนต้องติดอยู่กับหน้าจอ ทำให้เราไม่ค่อยมีเวลาขยับตัว และไม่มีเวลาเลือกสรรอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากพอ หรือในอีกแง่หนึ่งเราก็อาจมีตัวเลือกอาหารที่เย้ายวนใจมากขึ้นด้วย สิ่งนี้ทำให้โรคอ้วนกลายมาเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพของเรา ทั้งในแง่บุคคลและสังคมโดยรวม เมื่อพูดถึงโรคอ้วน บางคนอาจมีความเชื่อเดิมๆ ว่า คนอ้วนไม่พยายามมากพอ ทำไมไม่กินให้น้อยลง ไม่ออกกำลังกายให้มากขึ้น ทว่านอกจากวิถีชีวิตอย่างที่เอ่ยมาแล้ว ก็อาจมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ที่ควบคุมยาก เช่น ฮอร์โมน ยีน และสภาวะทางร่างกายอื่นๆ ดังนั้นโรคอ้วนจึงไม่ใช่แค่เรื่องของพลังใจ โรคอ้วนได้รับการระบุจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรงและซับซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรประมาณ 1 ใน 7 ทั่วโลก และคนไทยประมาณ 40 % มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน นั่นหมายความว่าคนไทยเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียวที่มีภาวะนี้

โรคอ้วนไม่ใช่แค่เรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก แน่นอนละว่าเมื่อมีน้ำหนักเกินหรือรูปร่างอ้วน คนมักจะไม่มั่นใจในตัวเอง โดนล้อเลียนและถูกกลั่นแกล้งทางสังคม ทั้งจากคนใกล้ตัว คนในที่ทำงาน หรือแม้แต่บุคคลอื่นในที่สาธารณะ แต่เหนือไปกว่านั้นโรคอ้วนยังสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ และความเสี่ยงทางสุขภาพอีกกว่า 200 รายการ เช่นโรคที่เรานึกออกทันทีอย่าง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด อาการปวดเข่า และยังมีอีกหลายโรคที่เราอาจนึกไม่ถึง อย่างโรคไตเรื้อรัง ที่เรามักนึกว่ามาจากการรับประทานอาหารรสจัดเท่านั้น โรคไขมันพอกตับที่เรามักคิดว่ามาจากการดื่มหนัก อัมพาตที่เชื่อมโยงมาจากภาวะอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ความเสื่อมสมรรถภาพในเพศชาย อาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ รวมไปถึงโรคมะเร็งอีกหลายประเภท ดังนั้นการรักษาโรคอ้วนหรือการลดน้ำหนัก จึงไม่ใช่แค่การรักษารูปร่าง แต่หมายถึงการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ดังที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน Redefining Obesity Management: The Benefit Beyond Weight Loss ซี่งจัดโดยโนโว นอร์ดิสค์ ว่า “ความอ้วนไม่ใช่แค่ลักษณะภายนอก มันมีผลกับแทบทุกส่วนของร่างกาย”

ก่อนจะไปถึงวิธีการรักษา เรามาดูวิธีสังเกตกันก่อนว่าตอนไหนที่เราเริ่มน้ำหนักเกิน คุณหมออภิชาตให้ความรู้กับเราว่า “ในระยะแรก ค่าต่างๆ (ค่าเลือด ค่าน้ำตาล ค่าไขมัน) อาจจะยังไม่เปลี่ยน การสังเกตโรคอ้วน อันดับที่หนึ่งคือดูค่าดัชนีมวลกาย (BMI)” วิธีหาค่าดัชนีมวลกายคือ เอาน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ถือว่าน้ำหนักเกิน และเมื่อถึง 30 จะถือว่าเป็นโรคอ้วน คุณหมอแนะนำวิธีต่อไปว่า “อันดับที่สองคือวัดรอบเอว รอบเอวของคนเอเชีย โดยเฉพาะคนไทย ถ้าเป็นผู้หญิง ผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่าไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร (ประมาณ 31.5 นิ้ว) ผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร (ประมาณ 35.5 นิ้ว) ในกรณีที่ค่าดัชนีมวลกายเกิน หรือรอบเอวเกิน ตัวแปรของไขมันอาจจะยังไม่เปลี่ยน อีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันในงานวิจัยคือทำ MRI สแกนร่างกาย เพื่อดูว่ามีไขมันส่วนไหนมากล้นเกินผิดปกติ” โชคดีที่เรามีวิธีสังเกตเบื้องต้นง่ายๆ แม้ไม่ต้องตรวจเลือด และหากเราใช้วิธีเบื้องต้นแล้ว พบว่าเราเริ่มอยู่ในเกณฑ์อ้วน เราอาจต้องเริ่มควบคุมน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย คุณหมอแนะนำว่าการควบคุมอาหารสำคัญที่สุดในการลดความอ้วน ส่วนการออกกำลังกายเป็นตัวเสริมเพื่อให้เรายังสามารถคงน้ำหนักเท่าเดิมตามที่เราต้องการไว้ได้

ทว่าอย่างที่เกริ่นไปข้างต้น บางครั้งการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเดียวอาจไม่สามารถช่วยเรื่องการลดน้ำหนักสำหรับบางคน ไม่ใช่ว่าไม่ได้พยายาม แต่ด้วยปัจจัยด้านวิถีชีวิตและสภาวะทางร่างกาย ทำให้ไม่สามารถลดน้ำหนักด้วยตัวเองได้ ดังนั้นเมื่อตระหนักว่าเราอยู่ในเกณฑ์เป็นโรคอ้วนและทำอย่างไรก็ไม่สามารถลดน้ำหนักเองได้ การปรึกษาแพทย์คือทางออก การใช้ยาลดความอ้วนที่หาซื้อเองตามท้องตลาดนั้นมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง ดังนั้นการรักษาโดยอยู่ในความดูแลของแพทย์จึงเป็นเรื่องจำเป็น

คุณหมอกล่าวเสริมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาโรคอ้วนด้วยยาว่า ปัจจุบันมียาในกลุ่มที่แพทย์ใช้ในการลดน้ำหนักซึ่งมีประสิทธิภาพสูงที่สุดตั้งแต่มีการคิดค้นยาลดน้ำหนักมา และมีความปลอดภัยมากที่สุดเมื่อเทียบกับยาต่างๆ ที่ใช้กันมา นอกจากนั้น แพทย์ยังเริ่มใช้ยากลุ่มนี้รักษาโรคหัวใจด้วย โดยคุณหมออธิบายเสริมว่าโรคอ้วนเป็นปัญหากับแทบทุกระบบ แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือระบบหัวใจ ไขมันที่เพิ่มขึ้นในคนที่มีภาวะอ้วนจะไปเกาะอยู่ที่ชั้นเยื่อบุหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ผิวหัวใจด้านใน และผนังหัวใจด้านใน กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเปลี่ยน จะมีการอักเสบเกิดขึ้น จะมีการแทรกตัวของเนื้อไขมันที่อยู่ข้างใน เพราะฉะนั้นมันมีผลกับหัวใจแทบทั้งหมด แล้วสภาพเหล่านี้นำไปสู่ภาวะกระแสไฟฟ้าทำงานผิดปกติในหัวใจ ปกติหัวใจห้องล่างเต้นประมาณ 60 – 70 ครั้งต่อนาที หรืออาจจะถึง 100 ครั้งต่อนาทีตอนออกกำลังกาย เวลาที่เกิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจ หัวใจห้องล่างจะเต้นประมาณ 300 – 400 ครั้งต่อนาที นั่นแปลว่ามันไม่บีบตัว และนำไปสู่การเสียชีวิตเฉียบพลันได้ (Sudden Death) ส่วนหัวใจห้องบนปกติจะบีบตัวไล่เลือดลงไปที่หัวใจห้องล่าง แต่พอหัวใจมีปัญหาขึ้นมา เช่น หัวใจห้องบนบีบสามร้อยกว่าครั้ง นั่นคือมันไม่บีบตัว ก็จะเหมือนเวลาเราไปเดินตลาด แล้วเห็นแม่ค้าเทเลือดหมูลงในอ่าง ถ้าทิ้งไว้มันจะแข็งตัว แต่ถ้ากวนอยู่ตลอดก็จะไม่แข็งตัว ในเมื่อหัวใจห้องบนไม่บีบตัว ในนั้นมันพร้อมจะเกิดก้อนเลือด พอมีก้อนเลือดเกิดขึ้นในหัวใจห้องบน มันก็ลงไปที่หัวใจห้องล่าง พอหัวใจห้องล่างบีบตัว มันจะไปที่สมอง ทำให้เกิดอัมพาต ดังนั้นการลดน้ำหนักจึงป้องกันภาวะเหล่านี้ได้ คุณหมอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเราลดน้ำหนักอย่างน้อย 5% ความเสี่ยงทางสุขภาพจะเริ่มลดลง ความดันโลหิตดีขึ้น น้ำตาลดีขึ้น ถ้าลดสัก 5 – 10% อาจป้องกันโรคเบาหวาน เช่น ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นเบาหวาน เราไม่อยากเป็น การลดน้ำหนักคือคำตอบ อีกทั้งการลดน้ำหนักในระดับนี้ยังป้องกันไขมันเกาะตับ ซีสต์ในรังไข่ ภาวะในเลือดผิดปกติ ถ้าลดได้ 10 – 15% จะลดการเกิดโรคหัวใจ ปัญหาปัสสาวะเล็ดในผู้หญิง การหยุดหายใจกลางคืน กรดไหลย้อน และอาการปวดเข่า และถ้าลดได้ระดับนี้จริงๆ อาจทำให้คนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถหยุดใช้ยาได้เป็นเวลานาน (T2D remission)

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือเรามักคิดว่าเมื่อต้องใช้ยาลดไขมันหรือยารักษาโรคอ้วน เราต้องใช้ไปตลอดชีวิต แต่การรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ในปัจจุบัน คือการเริ่มใช้ยาจากขนาดต่ำ ขยับไปเป็นขนาดกลาง และขนาดสูง ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย หากได้ผลดีและผู้ป่วยสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ ก็สามารถหยุดใช้ยาได้ในที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยด้วย

โนโว นอร์ดิสค์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านการดูแลสุขภาพระดับโลกจากประเทศเดนมาร์ก ก็เล็งเห็นถึงปัญหาภาวะโรคอ้วนที่สูงขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก ในฐานะผู้นำด้านยารักษาเบาหวานมากว่า 100 ปี บริษัทมองว่าการลดน้ำหนักไม่ใช่แค่การทำให้ตัวเลขบนตาชั่งลดลง แต่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยรวม หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทคือออกุสต์ ครอห์ก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อปี 1920 เขามีภรรยาป่วยเป็นโรคเบาหวาน เมื่อออกุสต์ได้ยินเกี่ยวกับการค้นพบอินซูลินในปี 1921 เขาจึงเดินทางไปแคนาดาเพื่อขออนุญาตจากนักวิจัยในการผลิตยาตัวนี้ที่เดนมาร์ก และหลังจากนั้นสองปี ผู้ป่วยคนแรกก็ได้รับการรักษาด้วยอินซูลินของพวกเขา จนถึงวันนี้นวัตกรรมในการรักษาโรคเบาหวานพัฒนาขึ้นมาก และสามารถเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

นวัตกรรมนี้ยังได้นำมารักษาโรคอ้วน โดยบริษัทคือผู้นำโมเลกุล GLP-1 ให้ผ่านการรับรองรายแรกของโลก บริษัทได้ศึกษาทำความเข้าใจโรคอ้วนแบบรอบด้าน ตั้งแต่ฮอร์โมนไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม และพยายามสร้างความเข้าใจใหม่ให้โลกเห็นว่า โรคอ้วนไม่ใช่ความผิดของใคร และการจะลดปัญหาโรคอ้วนโดยรวมก็จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน เอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด เล็งเห็นว่า ถ้าเราสร้างความตระหนักรู้ได้ เราจะหาทางป้องกันได้ และด้วยแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจากหนึ่งประเทศที่ประชากรมีสุขภาพดีที่สุดในโลกอย่างเดนมาร์ก บริษัทจึงอยากร่วมแบ่งปันแนวคิดนี้ให้กับคนไทย ไม่ใช่ในฐานะแบรนด์ยา แต่ในฐานะพาร์ทเนอร์ของสังคมที่อยากเห็นคนไทยเข้าใจสุขภาพอย่างแท้จริง เอ็นริโก้มาอยู่ประเทศไทยได้สองปีกว่าแล้ว เขาทราบเช่นเดียวกับเราว่าปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว เขามองว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เราจะมีชีวิตยืนยาวไปได้อีกกี่ปีเพียงอย่างเดียว แต่เราควรจะได้ใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีในระหว่างปีเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

The post The New Era of Wellness: นวัตกรรมสุขภาพเพื่อชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน appeared first on L’Officiel Thailand.

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
pgslot
pg