Van Cleef & Arpels นำเราออกตามล่าหาขุมสมบัติครั้งใหม่ในไฮจิวเวลรี่คอลเลกชั่นล่าสุด

เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Van Cleef & Arpels ได้ปลุกเรื่องราวของเกาะมหาสมบัติหรือ Treasures Island ของนักเขียน Robert Louis Stevenson (1883) ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้งในรูปแบบของไฮจิวเวลรี่คอลเลกชั่นที่ใช้ชื่อว่า ‘Treasure Island’ ซึ่งใช้เวลาสร้างสรรค์ไม่ตำ่กว่า 2 ปี เมื่อได้ชมใกล้ๆ ก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงความอัศจรรย์ใจที่ทางเมซงตั้งใจนำเสนอผ่านเรื่องเล่าและแรงบันดาลใจที่แปรเปลี่ยนออกมาเป็นชิ้นงานจริง ผสานกับความเชี่ยวชาญจากนักออกแบบ ช่างเครื่องประดับ ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณี ช่างฝีมือหลากแขนง และอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน จนออกมาเป็นคอลเลกชั่นที่ทั้ง poetic และ romantic
ในโอกาสที่เราเดินไปร่วมงานเปิดตัวคอลเลกชั่นที่ไมอามี สหรัฐอเมริกา เรายังได้พูดคุยกับ Jean Bienaymé ผู้รับตำแหน่ง Marketing & Communication Director ของ Van Cleef & Arpels ถึงมุมมองที่เขามีต่อคอลเลกชั่นไปจนถึงบทบาทของไฮจิวเวลรี่ในปัจจุบันด้วย
คิดว่าเสน่ห์ของเรื่อง Treasure Island คืออะไร
“มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโจรสลัดก็จริง แต่มันก็มีความเชื่อมโยงกับวัยเด็ก เพราะเป็นหนังสือเล่มโปรดของคนจำนวนไม่น้อย แล้วเวลาที่เราได้เห็นอะไรก็ตามที่เชื่อมโยงกับวัยเด็ก มันเหมือนเป็นการกระตุ้นความรู้สึก และไม่ว่าเราจะมาจากที่ไหนในโลก เราน่าจะเติบโตมากับเรื่องราวการตามล่าหาสมบัติคล้ายๆ กัน ผมเลยคิดว่ามันน่าจะเข้าถึงได้กับทุกวัฒนธรรม แล้วเราเองก็เป็นเมซงผู้สร้างสรรค์จิวเวลรี่ ซึ่งจิวเวลรี่ก็เป็นสมบัติล้ำค่าด้วย และด้วยความเรื่องนี้เป็นเรื่องของโจรสลัด มีการล่องเรือ ไปพบพรรณไม้ ดอกไม้ สรรพสัตว์ต่างๆ จนไปถึงดินแดนอันไกลโพ้น ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูในอาร์ไควฟ์ของเรา ก็จะเห็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับธีมเหล่านี้ ก็เลยคิดว่ามันเป็นเรื่องมีความเชื่อมโยงกับเมซงของเราครับ”
สำหรับเมซง ความที่มันเชื่อมโยงกับฝันวัยเยาว์ มันก็เลยจินตนาการได้อย่างไร้ลิมิตใช่ไหม
“ใช่ครับ แต่ในขณะเดียวกับเวลาที่เราสร้างคอลเลกชั่น มันต้องมีความชัดเจนเพื่อที่ทีมงานไปจนถึงลูกค้าจะได้เข้าใจ อย่างคอลเลกชั่นนี้เราแบ่งเป็นสามบท คือ ‘การผจญภัยกลางทะเล (The Adventure at Sea)’ ‘การออกสำรวจเกาะ (Exploring the Island) และ ‘การตามล่าหาขุมทรัพย์ (The Treasure Hunt)’ ซึ่งดีไซน์ก็ต้องเชื่อมโยงกับบทเหล่านี้ครับ”
ผลงานในบท The Treasure Hunt นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมหลากหลาย ทั้งมายา อินเดีย ไปจนถึงยุโรปสมัยเรอเนสซองส์
“มันทำให้คอลเลกชั่นนี้มีลูกเล่นมากครับ และมันก็เป็นการนำสิ่งต่างๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เมซงมานำเสนอให้เข้ากับคอลเลกชั่นนี้ เป็นการเน้นยำสิ่งที่เป็นเฮอริเทจของเราที่หล่อเลี้ยงการสร้างสรรค์ผลงานของเรา แล้วยังมีการนำอัญมณีหลากสีสันมาใช้ รวมถึงเทคนิคต่างๆ ในการผลิตจิวเวลรี่ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เมซงพัฒนาและสืบทอดต่อกันมา”
ถ้าต้องเลือกหนึ่งชิ้นที่เป็นตัวแทนคอลเลกชั่นนี้ได้ดีที่สุด
“สำหรับผม คิดว่าต้องเป็น เข็มกลัด Palmier Mystérieux ซึ่งเป็นรูปต้นปาล์มบนเกาะ มีดวงอาทิตย์ และกล่องสมบัติ มันสรุปคำว่า Treasures Island ได้ดีมากครับ และมันยังมีความ interchangeable สามารถปรับเปลี่ยนได้หลายรูปแบบ และยังใช้เทคนิค gold sculpting และการประดับอัญมณีแบบ Mystery Set ที่เมซงคิดค้นขึ้นมา ถึงจะเป็นเข็มกลัดเล็กๆ แต่ก็ใช้เทคนิคไฮจิวเวลรี่หลายเทคนิครวมกันครับ เป็นผลงานมาสเตอร์พีซจริงๆ”
คุณคิดว่าไฮจิวเวลรี่มีบทบาทอย่างไรในปัจจุบัน
“ปัจจุบันนี้ สื่อและผู้คนให้ความสนใจกับไฮจิวเวลรี่มากขึ้นซึ่งมันเป็นเรื่องดีมากๆ สำหรับผมแล้วไฮจิวเวลรี่คือ decorative art รูปแบบหนึ่ง มันสะท้อนถึงความงาม ความเป็นเลิศ ความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่หายาก และโลกนี้ก็ขาดความงามไม่ได้ครับ และอีกบทบาทหนึ่งของไฮจิวเวลรี่ก็คือการธำรงรักษาองค์ความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับงานฝีมือให้คงอยู่สืบไป”
บทความอื่นที่น่าสนใจ:
VAN CLEEF & ARPELS พาเราออกตามหาขุมทรัพย์ไฮจิวเวลรี่ Treasure Island
Van Cleef & Arpels เชิดชูหัตถศิลป์ชั้นสูงในนาฬิกาใหม่ในคอลเลกชั่น Extraordinary Dials