Blog

พูดคุยกับห้าหนุ่มผู้รับบทนักเลงใน อันธพาล 2499 THE MUSICAL เรื่องร้อง เล่น ต่อย ตี และมิตรภาพทั้งในตรอกซอกซอยและบนเวที

ประโยคอย่าง “เป็นเมียเรา ต้องอดทน” “เป็นคนดีไม่ได้ ก็เ*ยแ*งเลย” “แถวนี้แ*งเถื่อน ไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้” เป็นประโยคที่หลายคนได้ยินปุ๊บก็รู้เลยว่ามาจากภาพยนตร์เรื่องอะไร หรือแม้แต่คนที่ไม่รู้ก็ต้องเคยได้ยินใครพูด หรือเอาไปพูดเล่นเองบ้างแน่ๆ

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลักฐานที่บ่งบอกว่าเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง คือภาพยนตร์ระดับตำนานของไทย เมื่อออกฉายในปี พ.ศ. 2540 ก็ได้รับความนิยมล้นหลาม มีรางวัลการันตี และสร้างกระแสการพูดคุยถกเถียงทั้งในเชิงภาพยนตร์และเชิงสังคมอย่างกว้างขวาง ผ่านมา 28 ปี ในปีนี้อันธพาลจะกลับมาครองเมืองอีกครั้ง ทว่าแตกต่างไปจากเดิม เพราะตัวละครทั้งหมดจะไม่ได้อยู่แค่ในหน้าจอ แต่จะมาจ้องตากับคนดูแบบสดๆ บนเวที โดยทีมสร้างละครเวทีมือทองของบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ที่จะคืนชีพเหล่าอันธพาลยุค 2499 อีกครั้งในรูปแบบมิวสิคัลชื่อ อันธพาล 2499 THE MUSICAL นำแสดงโดย นาย-ณภัทร เสียงสมบุญ ในบท แดง ไบเล่, ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต ในบท ปุ๊ ระเบิดขวด, เทศน์ ไมรอน ในบท ดำ เอสโซ่, ไดมอนด์-ณรกร ณิชกุลธนโชติ ในบท เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์ และบูม-สหรัฐ เทียมปาน ในบท แหลมสิงห์

ก่อนที่จะไปดูละครเวที เรามีโอกาสได้พูดคุยกับพวกเขาทั้งห้าคนถึงการมารับบทนำในละครเวทีเรื่องนี้ ตั้งแต่การทำงานกับตัวละครที่ตนได้รับ ความเข้าใจในศาสตร์แห่งละครเวที มิตรภาพระหว่างตัวละครและนักแสดงร่วม ไปจนถึงมุมมองเกี่ยวกับอันธพาล

ช่วยแนะนำคาแร็กเตอร์ของตัวเองหน่อย

นาย: “สมัย 2499 คือยุคที่ทุกคนต้องเอาตัวรอดให้ได้ เป็นยุคที่ผมรู้สึกว่าโหดร้าย ถ้าใครมารังแก ไม่มีใครช่วยได้ ทุกคนต้องเอาตัวรอด ดังนั้นจะมีผู้คุมถิ่นเพื่อคุ้มครอง ไม่ให้มีโจรมาทำเรื่องเดือดร้อน เมื่อก่อนตำรวจอาจจะปกป้องไม่ทั่วถึง แก๊งไบเล่ก็จะคุมถิ่นและเก็บค่าคุ้มครองจากทุกคน อย่างตัวแดง จริงๆ ก็เป็นเด็กน่ารักคนหนึ่ง โตมากับแม่โฉม ซึ่งเป็นโสเภณีในตรอกแถวนั้น แดงโตมาโดยมีความฝันว่าอยากจะดูแลคนที่เรารัก ดูแลครอบครัวให้ดี 
ไม่อยากให้แม่ทำงานนี้ แต่ด้วยการเป็นคนคุมถิ่น มันสุ่มเสี่ยงมาก ทำให้เราพลั้งมือไปฆ่าคน หลังจากนั้นเส้นทางชีวิตก็เปลี่ยน เราเลือกเส้นทางเดิมไม่ได้ จากที่เคยมีฝัน กลายเป็นต้องเข้าโรงเรียนดัดสันดาน สมัยนั้นคือหมดอนาคตไปเลย แต่ในจิตใจไม่ใช่คนไม่ดี แดง ไบเล่มีจุดยืนที่ชัดเจนคือปกป้องคนที่ตัวเองรัก ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม เรามีวิธีปกครองคนในแบบของเรา และก็มีเพื่อนรักที่สุดคนหนึ่งที่ผ่านทุกเรื่องมาด้วยกัน นั่นคือปุ๊ ระเบิดขวด ซึ่งในเรื่องนี้ทุกคนจะได้เห็นความน่ารักและอบอุ่นของแดงกับปุ๊ตั้งแต่ช่วงเด็กยันโต มันอบอุ่นหัวใจมากเลยในมิตรภาพระหว่างเพื่อน เป็นละครที่ไม่ได้ผู้ชายจ๋า ทุกคนดูได้ ผู้หญิงก็ดูได้”

ไอซ์: “พี่บอยพูดตั้งแต่แรกเลยว่าเราจะไม่ทำให้มันเป็นรีเมกของหนังเรากำลังจะสร้างสิ่งใหม่ด้วยเรื่องนั้น จึงพยายามไม่ให้เรายึดติดกับหนังมาก ให้สร้างคาแร็กเตอร์ใหม่ โดยตีความจากตัวเราไปเลย ผมเลยไปนั่งหาว่าปุ๊จะเป็นยังไง ผมได้กลับไปดูหนัง และไปนั่งฟังคนคนหนึ่งจากแก๊งอะไรสักอย่างที่เขาบอกว่ารู้จักคนเหล่านั้นซึ่งเขาไปเล่าในยูทูบ เพราะรู้สึกว่าเราอยากใช้จากความจริงด้วย พอทำการบ้านมาก็ได้แบ็กกราวด์ว่าปุ๊เป็นเด็กที่โตในบ่อน เขาก็เลยโตมาโดยเห็นพ่อเป็นตัวอย่าง เช่นว่าพ่อทำยังไงเวลาคนมันจะโกงเงิน เห็นการโดนกระทืบ เห็นอบายมุขทุกอย่าง โดนใช้ให้ไปทำโน่นทำนี่ที่เป็นเรื่องไม่ดีมาตลอด แต่ปุ๊ก็รู้สึกว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปกติ เขาก็เลยเห็นพ่อเป็นไอดอล อยากจะเป็นแบบพ่อ หรือยิ่งใหญ่กว่า ความฝันคืออยากเป็นอันธพาลที่ดังจนกลายเป็นตำนาน ตายไปแล้วแต่ชื่อยังอยู่บนโลกนี้ก็เลยกลายเป็นปุ๊ ระเบิดขวด ซึ่งเขาก็ดังจนเป็นตำนานจริงๆ”

เทศน์: “ดำเป็นคาแร็กเตอร์ที่หลายคนบอกว่า พูดน้อยต่อยหนัก ซึ่งก็จริง ดำเป็นคนที่พูดไม่เยอะ อย่างในหนังเขาพูดแค่สี่พยางค์ (เล่นมุก) เขาเป็นมือขวาของปุ๊ สมมติถ้าปุ๊ต้องการความช่วยเหลือ ต้องใช้ความรุนแรง ปุ๊ก็จะขอความช่วยเหลือจากดำ พอยิ่งอ่านบท ได้ทำความรู้จักกับตัวละคร เรารู้เลยว่าจริงๆ เขาทำเพราะความรักที่มีต่อเพื่อน มันเป็นความไว้ใจกันระหว่างแก๊งเพื่อนครับ”

ไดมอนด์: “คาแร็กเตอร์เปี๊ยกคือเด็กเรียนที่อยากจะเป็นนักเลง เขาเติบโตมาเป็นเด็กกำพร้าที่อยู่ในวัด มีหลวงพ่อรับเลี้ยงไว้ แต่จริงๆ ไม่ได้อยากเรียนขนาดนั้น จนมาเจอแดง ซึ่งเป็นเพื่อนเพียงคนเดียวของเขาที่เปี๊ยกเห็นแล้วมีแรงบันดาลใจว่าอยากจะเป็นนักเลง เพราะว่าเขาเท่มากเวลาต่อยตี”

บูม: “ทีแรกยังไม่รู้เลยว่ามีตัวละครที่ชื่อแหลมสิงห์ด้วย แต่พอไปดูและอ่านมา ผมรู้สึกว่าแหลมสิงห์จะมีความเป็นหัวโจกนิดๆ มีความกวนๆ ชอบกวนประสาทเพื่อน เป็นตัวละครที่เล่นแล้วสนุกดี มันได้หยอกเพื่อนแกล้งเพื่อน”

วางคาแร็กเตอร์ในเวอร์ชั่นละครเวทีเหมือนหรือต่างจากในเวอร์ชั่นภาพยนตร์อย่างไร

นาย: “ต้องลบภาพเดิมทิ้งไปเลย คือผมสร้างเรื่องราวและทัศนคติที่มันแชร์กับตัวละครได้ ซึ่งผมว่ามันดีนะ ผมว่ามันเป็นอารมณ์ขันอย่างหนึ่ง แต่ผมขอไม่เล่า เพราะมันมีความเป็นส่วนตัวของผมและแดง บางอย่างเหมือนเราได้ทดลองหาว่าแดงมีความรู้สึกยังไงในสมัยนั้น ไอ้แดงทำไมมันถึงสู้ตายขนาดนี้ ผมหาอยู่ทุกวัน ผมไม่สามารถพูดตายตัวได้ เพราะมันเปลี่ยนทุกวัน ทุกครั้งที่เราซ้อมก็จะเจออะไรใหม่ๆ จะมีการปรับทั้งบท ทั้งความคิด ทั้งชุดความรู้สึก มันเป็นการทำงานที่ใหม่มาก ไม่เหมือนละครที่ฟิกซ์มาแล้ว ผมรู้สึกได้ผจญภัยไปกับแดงจนกว่าจะถึงวันที่ผมส่งมอบให้คนดู”

ไอซ์:  “ในหนัง พี่ต๊อก (ศุภกรณ์) เขาทำไว้ดีมากเลย แต่เป็นคาแร็กเตอร์ที่ผมรู้สึกว่าเอามาใส่ในตัวผมแล้วไม่มีทางเหมือน ด้วยเสียง ด้วยรูปร่าง เราเลยพยายามปรับไปเป็นอีกแบบว่า ปุ๊เป็นคนไปไหนไปกัน ลุยเต็มที่ แต่ไม่ได้
แปลว่าจะเป็นคนที่นิ่งแล้วอยู่ดีๆ ก็เสียงดังขึ้นมา ของผมมันจะเป็นคนที่บ้าๆ หน่อย มีพลังพลุ่งพล่านตลอดเวลา บ้าพลังมากกว่าในหนัง ของเขาจะนิ่งๆ มีมาดเยอะๆ ซึ่งผมก็ตีความอีกแบบไปเลยว่าปุ๊จะสนุกในการได้ต่อยตี ได้ทำอะไรแย่ๆ และเป็นคนที่มีความรู้สึกอะไรก็แสดงออกมาเลยไม่ต้องมีมาดอะไรให้มากมาย”

เทศน์: “ถ้ามุมที่เหมือนคือความรักที่เขามีต่อเพื่อน และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับปุ๊ก็จะเป็นแบบเดียวกัน แต่ในละครเวทีก็จะเพิ่มความคอเมดี้เข้าไปนิดหนึ่ง ให้คนดูหัวเราะตามได้ และในเวอร์ชั่นนี้เขาก็จะพูดมากกว่าในหนัง และมีการร้องเพลงด้วย ซึ่งก็น่าสนใจดี เพราะเราก็ต้องค้นหาว่าตัวละครอย่างดำเขาจะร้องเพลงยังไง ทำไมเขาถึงจะร้องเพลง มันจะเพิ่มสีสันเข้าไปในตัวละครนี้ได้มากครับ”

ไดมอนด์: “ผมมอง (เวอร์ชั่นนี้) ต่างไปเลย ด้วยความที่ในภาพยนตร์อายุเขาต่างกับผมเยอะ เราก็เลยตีความอีกแบบไปเลย เหมือนเป็นอีกตัวละครหนึ่ง เพราะมันต้องออกมาจากตัวเรา ต้องมีความเป็นตัวเราอยู่ด้วย ผมวางเปี๊ยกเวอร์ชั่นนี้ว่าเป็นเด็กเนิร์ด เป็นหนอนหนังสือ ชอบอ่านตำราตามวัด มีความจำที่ดี แต่ไม่ชอบเรียนนะ แล้วก็อยากเท่ ก็จะมีความเก้ๆ กังๆ”

บูม: “ถ้าเปรียบกับสี ผมว่าคาแร็กเตอร์นี้จะเป็นสีสดๆ หน่อย มีความจี๊ดจ๊าด ตัวละครนี้ที่ผมวางไว้คือ เป็นคนคิดเยอะ แต่สิ่งที่แสดงออกไปภายนอกเหมือนคนตื่นตัวตลอดเวลา จะเหมือนเป็นตัวดีดของกลุ่ม การเล่นให้คนเห็นว่าตัวละครดีดนี่ไม่ยาก คนดูน่าจะสัมผัสได้อยู่แล้ว แต่การเป็นคนคิดมากอยู่ในใจ ผมคิดว่าบทในองก์สองน่าจะช่วยส่งให้คนรู้ว่า อ๋อ มันก็เป็นคนจริงจังเหมือนกันนะ แค่มันแสดงออกมาอีกแบบ”

ละครเวที VS ซีรีส์/ละคร/ภาพยนตร์ VS การร้องเพลง

นาย: “ผมรู้สึกว่านี่คือศาสตร์ใหม่ของผม นี่คือโลกใหม่ เป็นเหมือนไฟอันใหม่ของผมที่มันปะทุอยู่ทุกวันๆ ผมทิ้งทุกอย่างที่เคยเรียนมาหมดเลย ไม่ใช่ว่ามันไม่ดีหรือมันใช้ไม่ได้นะ แต่ผมเหมือนมาเริ่มผจญภัยใหม่หมดเลย ถ้าพูดถึงคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง การร้อง การเต้นนี่ไม่ใช่อยู่แล้ว ผมผลักทะลุออกไปเลย แต่ผมเชื่อใจทีมพี่บอย ทีมร้องเพลง ครูสอน ทีมเต้นอองซอมเบิล (ensemble) นักแสดงร่วมอีกยี่สิบกว่าชีวิต แล้วพอมันมีความเชื่อใจกันเกิดขึ้น 
มันมีความรู้สึกที่แปลกใหม่มาก อยู่ดีๆ ร่างกายเราตอบสนองกับเพลงอย่างนี้ ตอบสนองกับประโยคที่คนข้างหลังส่งมาอย่างนี้ หมู่มวลมันทำให้เรารู้สึกอย่างนี้ ผมแค่ไหลไปกับเสน่ห์ของละครเวที เป็นสิ่งที่แตกต่างจากตอนเล่นละครหรือภาพยนตร์ มันคนละโลกกันเลย ผมรู้สึกเหมือนผมเริ่มใหม่หมด ผมมีความสุขกับการทำงานมาก ได้มีส่วนในการทำงานด้านโครงสร้างบท มีอิสระในความคิด ในการพูด ในการตัดสินใจ ในการแชร์เรื่องราว เช่นผมหายใจไม่ทัน ผมบอกได้หมดเลย แล้วมาปรับกัน และวิธีการเล่าของพี่บอยมันล้ำมาก ตอนได้อ่านรันทรูบทกันช่วงแรก ผมนี่ใจเต้นตุบๆ เลย วิธีการค่อยๆ โยน Easter Egg ให้คนดู ละครเวทีมันเป็นการสื่อสารสองทางมันไม่ใช่แค่พวกผมเล่น แต่คนดูข้างล่างมีปฏิกิริยาส่งกลับมา แล้วพวกผมจะต้องตอบโต้กลับ

“ส่วนเรื่องร้อง ผมขอเข้าคลาสล่วงหน้าประมาณสองเดือน ตอนยังไม่มีบท ยังไม่มีอะไรออกมา เพราะผมก็ไม่ได้เก่ง รู้สึกว่าอยากทำให้ดีที่สุด แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ มันไม่ได้ใช้คำว่าร้องเพลงอย่างที่เราคิด มันคือคำพูดที่อัดอั้นแล้วอยากจะพูดออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ หลังๆ ผมไม่ได้คิดว่ามันคือการร้อง มันคือการพูดอย่างหนึ่ง สื่อสารให้คนเข้าใจ โดยมีเสียงเพลงประกอบคลอไป แต่สิ่งที่ผมรักมากคือ ในชีวิตผมไม่เคยสื่อความสิ่งที่อยู่ในตัวผมได้เท่านี้มาก่อน แล้วมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ มีความสุขมากเลยเวลาเราจริงใจกับทุกคำพูดของเรา ทุกอิริยาบถของเรา”

ไอซ์: “ผมว่าละครเวทีเป็นหนึ่งศาสตร์ของการแสดงที่ไม่เหมือนกับสายอื่นๆ สำหรับผม เวลาแสดงเราต้องส่งไปให้ถึงชั้นสอง อารมณ์ต้องใหญ่ขึ้น ทุกอย่างใหญ่ขึ้น ต้องทำให้เห็นชัด นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้หนักที่สุดจากการเล่นละครเวทีรอบก่อน (แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล) แล้วระหว่างแฟนฉันจนถึงเรื่องนี้ ผมก็ได้ไปดูละครเวทีมาเพิ่มด้วย อย่างฝรั่งเก่งๆ อารมณ์เขามันใหญ่จริงๆ บางทีไม่ใช่ว่าเราต้องพยายามทำท่าใหญ่ แต่เราต้องขยายอารมณ์ แล้วจะทำให้คนรู้สึกได้มากขึ้นจริงๆ

“ส่วนเรื่องร้อง พี่บอยพูดแต่แรกว่าไม่ได้ต้องการเอาพวกเรามาร้องโอเปร่าขนาดนั้น  ก็ยังอยากให้ร้องเป็นเสียงเราอยู่  แต่เรื่องร้อง เรื่องนี้เยอะขึ้นกว่าเรื่องที่แล้ว (แฟนฉัน เดอะมิวสิคัล)  หลักๆ ผมจะมีความกังวลเรื่องเสียง  เพราะเราต้องเล่นอีก 30 กว่ารอบ  แล้วในเรื่องนี้ความเป็นอันธพาล ต้องตะโกน เห้ย ไอ้เ*ย  เอาดิ  เอาไง ต้องหาเรื่อง ต้องใช้เสียงตลอดเวลาจริงๆ   ซึ่งมันมีวิธีทำให้เสียงดังได้โดยที่เราไม่ต้องตะคอกขนาดนั้น  ซึ่งก็เป็นความรู้ใหม่ๆ ที่ต้องพยายามฝึกฝนอยู่ครับ บางครั้งเราก็แอบลืมใช้เทคนิค  ก็พยายามฝึกตัวเองให้ชินอยู่ครับ  เพราะแต่ละฉากของผม ค่อนข้างใช้อารมณ์มากๆ  จากคาแร็กเตอร์ที่เป็นเราเป็นแนวลุย ดุดัน เลยต้องมีฉากแอ็คชั่นต่อยตีเยอะมากๆ  ด้วยความที่เราต้องคุ้มครองชาวบ้าน ต้องมีความหนักแน่นต้องจำคิววิ่งหลบซ้าย หลบขวา กังวลกลัวพลาดไปทำใครบาดเจ็บเข้า  เพราะในฉากมีคนยี่สิบกว่าคน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย  แต่ก็ต้องสมจริง  ถ้ามีใครผิดคิว ก็ต้องไปต่อให้ได้  มันเป็นอีกเลเวลหนึ่งในการโคริโอกราฟสตันต์ ยอมรับว่าค่อนข้างเหนื่อยมากๆ ครับ”

เทศน์: “ละครเวทีต่างกับละครเยอะมาก เหมือนคนละโลกเลย การแสดงละครเวทีต้องเล่นใหญ่นิดหนึ่ง ส่งพลังเยอะ ในละครส่วนใหญ่จะใช้ตา ส่วนในละครเวทีต้องใช้ร่างกาย ใช้เสียง ใช้ทุกอย่างให้คนดูที่อยู่ไกลที่สุดได้สัมผัสถึงสิ่งที่เราต้องการสื่อ ผมก็ใช้เวลาปรับค่อนข้างเยอะ ช่วงแรกๆ ก็จะงงๆ หน่อยว่ามันต้องไปถึงตรงไหนคนดูถึงจะเข้าใจ อีกอย่างของละครเวทีที่มีเอกลักษณ์คือ เราได้มีโอกาสซ้อมเยอะมากๆ ละครปกติเราอาจได้ซ้อมแค่สองสามครั้ง แล้วก็เทก แล้วก็จบ แต่อันนี้เราต้องซ้อมเป็นเดือนๆ ก็เป็นโอกาสดีที่ทำให้เราได้หาอะไรใหม่ๆ ในทุกๆ ครั้งที่ซ้อม

“ส่วนเรื่องร้อง ผมโชคดีที่เคยเรียนร้องเพลงมาก่อน เพราะมีอีเวนต์และงานต่างๆ ที่เขาให้ผมร้องเพลง และผมเป็นคนชอบร้องเพลงอยู่แล้ว ชอบตั้งแต่เด็กเลย คุณพ่อผมก็ชอบร้องเพลง น้องสาวก็ร้องเพลงเก่งมากๆ ตอนเด็กๆ ก็จะมีโมเมนต์ร้องเพลงกับครอบครัว ผมเลยไม่ได้เขินกับการร้องเพลง เลยพร้อมที่จะลุย ไปเรียน ไปฝึกเทคนิคให้ถูกต้อง เพราะว่าการร้องเพลงในละครเวทีมันไม่ใช่เนื้อเสียงของเราอย่างเดียว มันคือเทคนิคด้วย ไม่อย่างนั้นก็ร้องแบบนั้นไม่ได้ทุกรอบ อีกอย่างที่คุณบอยเล่าให้ผมฟังคือ การร้องเพลงในละครเวทีมันไม่ใช่การร้องเพลง มันเป็นบทละครที่ออกมาเป็นเมโลดี้ ตอนได้ยินผมมาคิดว่า เอ้อ ก็จริงนะ ทุกอย่างที่เราพูดออกมาในละครเวทีมันไม่ใช่เพลงที่ร้องไปเพราะเนื้อเพลงมันเป็นแบบนั้น มันมีสาเหตุที่ทำไมตัวละครถึงพูดคำเหล่านี้ออกมา ผมเลยพยายามมองเพลงในละครเวทีเหมือนเป็นบทพูด ทำการบ้านกับมัน วิเคราะห์มันให้เหมือนบทพูดเลย แค่เพิ่มเมโลดี้เข้าไป”

ไดมอนด์: “วิธีการร้องในละครเวทีต่างออกไปมากเลย แต่มันคล้ายกับตอนที่ผมอยู่บนเวที มันคือการโชว์ให้คนได้มาดูแบบสดๆ เหมือนตอนเราร้องเพลง ตอนเป็นศิลปิน แต่มันยากกว่ามาก เพราะเราจะต้องคุมเวทีแบบนั้นอยู่สองชั่วโมง คล้ายๆ กับคอนเสิร์ตใหญ่คอนเสิร์ตหนึ่ง เราจะต้องมีความสามารถพอสมควรที่จะร้องในสองชั่วโมงนั้นแบบไม่เหนื่อย และยังมีเรื่องการแสดงเข้ามาอีก เลยยากมาก ถือว่าเป็นความท้าทายในชีวิตผมเลย

“ส่วนเรื่องการแสดง ผมหยิบประสบการณ์ตอนที่ถ่ายซีรีส์มาใช้เยอะเหมือนกัน ผมเคยคุยกับพี่บอยในประเด็นเกี่ยวกับการแสดงว่าเราต้องมีประสบการณ์ชีวิตเยอะถึงจะถ่ายทอดมันออกมาได้ พี่บอยจะบอกตลอดว่าเราเป็นคนที่มีลิ้นชักให้เลือกเยอะ มันคือลิ้นชักความทรงจำที่ผมสามารถดึงออกมาได้ สำหรับคาแร็กเตอร์นี้ผมใช้ลิ้นชักความทรงจำตอนม.ปลายมากที่สุด ผมเป็นเด็กหน้ามนในโรงเรียน รุ่นพี่ก็จะไม่ชอบเยอะ ก็เลยโดนหาเรื่อง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เรายืนอยู่ เขาก็ยกพวกกันมายี่สิบคนมาล้อมเราเป็นครึ่งวงกลมจนตัวเราติดกำแพง เราก็จะดึงความรู้สึกตรงนั้นมาใช้ จริงๆ 
ตัวละครเราก็เก๋านะ แต่มีความกลัวอยู่”

บูม: “การเล่นซีรีส์กับละครเวทีผมว่าต่างกันมาก การเล่นซีรีส์ ละคร หรือหนัง ผมว่าสามารถเล่นแบบสมจริงได้ แต่พอเป็นละครเวที เราอยู่ที่จุดจุดหนึ่ง แล้วมีคนมองเราจากตรงโน้นตรงนี้ ผมเลยรู้สึกว่าเราอาจจะต้องเล่นให้ชัดขึ้น ส่วนเรื่องเสียง จากปกติที่เราอาจจะไม่ต้องใส่ใจกับการพูดอะไรขนาดนั้น แต่พอเป็นละครเวทีเราต้องพูดให้ชัด ให้คนได้ยิน รวมถึงการถ่ายทอดด้วย

“ด้วยความที่เป็นละครเวที มีคนบอกผมว่าทุกครั้งที่ตัวละครร้องเพลง อย่าไปนึกว่าเป็นการร้องเพลง ให้นึกว่าเรากำลังพูด แต่แค่พูดเป็นเมโลดี้ ส่วนเรื่องวิธีการร้อง สิ่งที่เหมือนกันคือต้องร้องไม่เพี้ยน แต่ในเรื่องนี้ด้วยบทผมต้องร้องเพี้ยนก่อน ตัวละครผมมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้อง แต่ฝึกยังไงก็เพี้ยนอยู่ดี แต่ถ้าถามถึงความแตกต่าง ผมว่าก็ต่างนะ เพราะถ้าร้องแบบปกติ เราจะเล่นอะไรกับโน้ตไหนก็ได้ แต่พอเป็นละครเวที เราอาจจะอิมโพรไวส์ไม่ได้ขนาดนั้น เพราะมันมีโน้ตที่ฟิกซ์อยู่แล้ว และต้องร้องแบบใช้พลังเสียง ซึ่งเราจะร้องแบบป็อปไม่ได้ ต้องโปรเจ็กต์เสียงมากกว่า”

หากเปรียบตัวคุณกับตัวละคร แน่นอนว่าพวกคุณมีชีวิตที่แตกต่างกันกับตัวละครโดยสิ้นเชิง แต่พอได้ศึกษาและรับบทนี้แล้ว คิดว่ามีอะไรที่คุณเหมือนตัวละครบ้างไหม

นาย: “มีนะ แต่ผมบอกไม่ได้ (ยิ้ม)”

ไอซ์: “จะมีนักแสดงฝรั่งบางคนบอกว่าชอบเล่นตัวละครที่ต่างจากเราไปโดยสิ้นเชิง พยายามจะกลายเป็นอีกคนไปเลย แต่ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องนั้น การที่เราเล่นเป็นใครก็ตาม ไม่มีทางที่จะไม่มีตัวเราแม้แต่นิดเดียวติดไปด้วย มันเป็นไปไม่ได้ สำหรับไอซ์นะ ก็มีหลายๆ อย่างที่เรายังใช้ความเป็นตัวเราในการช่วยให้มันไปถึงความเป็นตัวละคร เช่น ตัวผมเองมีความเอาแต่ใจอยู่พอสมควร แล้วเราก็ขยายสิ่งนั้น เช่น ยูลองคิดดูสิว่าบนเวทีนี้เราจะทำอะไรก็ได้ มันคือการขยายสิ่งที่เรามีอยู่แล้วออกไป เพราะปุ๊เป็นคนไม่แคร์อะไรอยู่แล้ว เขาเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากๆ ซึ่งถามว่าผมมีสิ่งนั้นไหม ก็มี แต่อาจจะไม่เท่าเขา ก็เลยอาจต้องขยายหลายๆ ส่วนของตัวเองออกไป อันนี้คือสิ่งที่เหมือน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนปุ๊และยากสำหรับผมคือ ปุ๊ไม่แคร์ความรู้สึกคนอื่นเลย บางทีผมก็ยังหลุดๆ จากคาแร็กเตอร์กลับมาเป็นเรา เราก็ยังแคร์ว่าคนเขารู้สึกยังไง”

เทศน์: “สิ่งที่เหมือนคือช่วงแรกๆ ผมอาจจะพูดแค่สี่พยางค์เพราะผมพูดไทยไม่เป็น (หัวเราะ) ผมว่าผมรักเพื่อนมากๆ ค่อนข้างเป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตนิดหนึ่ง ถ้าเพื่อนชวนไปไหนทำอะไรผมก็จะทำ แต่ต้องถูกกฎหมายนะ แต่ดำเขาจะไม่สนกฎหมาย คือดำเขาจะมีความรักเพื่อน ความลุยที่คล้ายกับผม แต่เขาอาจจะคูณร้อย อาจจะเกินไปนิดหนึ่ง แต่ความรักระหว่างเพื่อน ความสัมพันธ์กับเพื่อน ผมรู้สึกได้ว่าผมมีเหมือนดำ มันเลยช่วยให้ผมเล่นออกมาได้ชัด และดำก็เป็นคนชอบออกกำลังกาย ชอบต่อยมวย ซึ่งผมก็ชอบเหมือนกัน ผมชอบกิจกรรมแอ็กทีฟ ใช้ร่างกายให้คุ้ม”

ไดมอนด์: “ในแง่มุมที่เหมือนกัน คือผมอาจจะไม่ใช่เด็กที่ชอบเรียนหนังสือขนาดนั้น ผมชอบทำกิจกรรมอื่นๆ มากกว่า เราชอบเล่นกีฬา  อีกสิ่งที่เหมือนคือ เปี๊ยก จะเจอประสบการณ์การอกหักด้วยอายุประมาณนี้  ซึ่งเราก็จะมีเรื่องความรัก การอกหักแบบนี้ด้วย ”

บูม: “สิ่งที่ผมเหมือนแหลมสิงห์คือผมชอบแซวเพื่อนหยอกเพื่อนมากๆ แต่สุดท้ายก็จะโดนเพื่อนด่า โดนเพื่อนโบกหัว แหลมสิงห์เป็นตัวละครติดเล่น ซึ่งผมว่าคล้ายคลึงกับผมตรงนั้น”

เรียนรู้อะไรจากตัวละครนี้บ้าง

นาย: “ผมแค่รู้สึกว่าอันธพาลก็มีหัวใจ เป็นคน ไม่ได้เกิดมากร่าง ไม่ได้อยากเป็นอันธพาล แดงไม่ได้อยากเป็นอันธพาลตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ ผมได้เรียนรู้ความรู้สึกของคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์นั้น การหมดอนาคตเป็นยังไง ชีวิตพลิกผันในชั่วข้ามคืนเป็นยังไง ผมได้เรียนรู้กับมันเรื่อยๆ แต่ยังตอบไม่ได้ชัดเจน เพราะนี่ยังไม่เริ่มแสดงเลย เพิ่งซ้อมจบองก์หนึ่งไป ถ้าถึงวันแสดงแล้วมาตอบอีกครั้ง ผมจะตอบได้ชัดๆ ว่ามันคืออะไร”

ไอซ์: “ผมเรียนรู้ว่าไม่มีใครในโลกที่เกิดมาแล้วเลวเลย มันมีเหตุผลบางอย่างเสมอ ผมพยายามไปศึกษาคนที่ทำอะไรแย่ๆ ก็จะเจอเหตุผลตลอด ไม่ว่าจะปกป้องคนที่เขารัก หรือเขาต้องเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมนั้น ไม่งั้นก็อยู่ไม่รอด ไม่งั้นก็คือตาย”

เทศน์: “ผมเรียนรู้ว่าคนที่ภายนอกอาจจะดูรุนแรง มักจะเป็นคนจิตใจ
อ่อนไหว พอได้รู้จักดำมากขึ้น ได้ตีความประวัติของเขา ก็รู้ว่าเขาผ่านอะไรมาเยอะมากๆ เขาไม่ได้เลือกที่จะเป็นนักมวยในเวลานั้น เขาไม่ได้เลือกที่จะไม่มีครอบครัว ไม่มีใคร ร้อนเงินมากๆ ต้องไปล้มมวย ผมมั่นใจว่าถ้าเขามีทางเลือกเขาไม่ทำ แต่พอไม่มีทางเลือก มันเลยทำให้เขากลายเป็นคนแบบที่เขาเป็น เป้าหมายอย่างหนึ่งของผมคืออยากให้คนสัมผัสถึงจุดนี้ของดำด้วย เป็นอย่างหนึ่งที่ท้าทายตัวเองไว้ อยากให้คนดูเห็นว่าไอ้ดำไม่ใช่แค่คนกล้ามใหญ่ พูดหนักๆ อยากให้คนดูเห็นอะไรนิดหนึ่งในตัวละครนี้ และรู้สึกว่าการตีความตัวละครนี้ของผมมันน่าสนใจ ต่างจากที่เคยดูมาก่อน”

ไดมอนด์ “เราได้เรียนรู้ว่าคนเป็นนักเลงบางครั้งก็อาจมีเหตุผลที่เขาต้องไปเป็นนักเลง มันจะมีอยู่ประโยคหนึ่งในบทละครที่บอกว่า ‘นักเลงมันก็มีแค่นี้แหละ เงิน เพื่อน แล้วก็ผู้หญิง’ เรารู้สึกว่าประโยคนี้มันอิมแพ็กต์กับเรา”

photographer: Thanut Treamchanchuchai

Fashion Director: Daneenart Burakasikorn

Writer: Weeranart Chotipuntu

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back to top button
pgslot
pg